อาการปวดท้องส่วนบน ปวดท้องเหนือสะดือแบบที่ปวดจี๊ด ๆ หรือปวดตื้อ ๆ แน่น ๆ กดแล้วเจ็บ รวมไปถึงคนที่มีอาการปวด ๆ หาย ๆ หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ ถ่ายเหลว ท้องเสีย ท้องผูก ร่วมด้วย อาการปวดบริเวณเหนือสะดือนี้จะเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร ตับ ถุงน้ำดี ม้าม ตับอ่อน
ปวดบริเวณส่วนบนข้างซ้ายเสี่ยงเกิดโรค ดังนี้
- กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ อาการปวดท้องส่วนบนข้างซ้าย ค่อน ๆ ไปทางหน้าอก อาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติของกระดูกอ่อนซี่โครงที่อยู่แถว ๆ กระดูกหน้าอกได้ โดยอาการสังเกต คือ หายใจแล้วเจ็บซี่โครง เคลื่อนไหวแล้วเจ็บ, หายใจได้ไม่เต็มอิ่ม, คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจมีไข้ได้หากอาการอักเสบเป็นมาก อาการนี้มักเกิดจากการยกของหนัก ออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อหน้าอกมากเกินไป หรือหน้าอกถูกแรงกระแทก
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หากมีอาการเจ็บแปล๊บ ๆ ที่ท้องส่วนบนค่อนไปทางซ้าย และอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อไอ หรืออยู่ในท่านอน แต่หากโน้มตัวมาข้างหน้าอาการจะดีขึ้น
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะรู้สึกจุกลิ้นปี่ เจ็บแถว ๆ ชายโครงลักษณะแบบจุก เสียด แน่น ลามไปถึงยอดอก และอาการจะเกิดอย่างเฉียบพลัน ร่วมกับใจสั่น เหงื่อออกมาก
- ม้ามโต ปวดท้องส่วนบนข้างซ้าย เช่น ภาวะม้ามโตที่จะมีอาการอ่อนเพลีย อิ่มง่าย กินไม่ค่อยได้ มีภาวะซีด โลหิตจาง เลือดออกง่าย มีอาการอักเสบในร่างกายบ่อย ๆ
- กระเพาะอาหารอักเสบ จะมีอาการปวดท้องด้านซ้ายส่วนบน ปวดเสียด ๆ ตื้อ ๆ จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ เป็น ๆ หาย ๆ ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีกรดแก๊สในกระเพาะเยอะ
ปวดบริเวณส่วนบนข้างขวาเสี่ยงเกิดโรค ดังนี้
- ถุงน้ำดีอักเสบ นอกจากอาการปวดท้องข้างขวา แนวใต้ชายโครงขวา บางคนอาจคลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีไข้สูงเฉียบพลันร่วมด้วย
- โรคเกี่ยวกับตับอ่อน อาการปวดท้องส่วนบนข้างขวา อาจจะเกิดความผิดปกติที่ตับอ่อน เช่นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โดยมักจะมีอาการเจ็บลิ้นปี่ เจ็บใต้ชายโครงขวา
- ความผิดปกติของลำไส้เล็ก โดยเฉพาะคนที่แพ้อาหาร แพ้สารบางอย่าง เช่น กลูเตน เมื่อกินเข้าไปแล้วลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมได้ ก็อาจมีอาการปวดท้องส่วนบนข้างขวาใกล้ ๆ ชายซี่โครง
- ไตอักเสบ หากมีความผิดปกติที่ไตข้างขวา ก็อาจมีอาการปวดท้องส่วนบนข้างขวาได้เช่นกัน โดยอาการสังเกตได้จะมีทั้งปัสสาวะบ่อย เจ็บขัดตอนปัสสาวะ หรือปวดหลัง
- นิ่วในไต ถ้าเป็นที่ไตข้างขวาจะมีอาการปวดท้องและหลังข้างขวา โดยปวดแบบเสียด ๆ หรือปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ อาจจะพบปัสสาวะปนเลือด ปวดแสบ ปวดขัดขณะปัสสาวะ คลื่นไส้ อาเจียน
ปวดบริเวณตรงกลางเสี่ยงเกิดโรค ดังนี้
- กรดไหลย้อน จะมีอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว จุกแน่นแถว ๆ หน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย และยิ่งนอนราบยิ่งอาการกำเริบ โ
- โรคกระเพาะอาหาร จะมีอาการปวดท้องตรงกลาง มีอาการแสบ ๆ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร
- แผลในกระเพาะอาหาร หากมีแผลในกระเพาะอาหาร ก็จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนในกระเพาะอาหาร ตำแหน่งระหว่างหน้าอกและสะดือมักจะกำเริบเมื่อท้องว่าง ระหว่างมื้ออาหาร หรือเวลาใดก็ได้
อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดท้องเรื้อรัง หรือมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที โดยที่ MW wellness มีเจ้าหน้าที่ และแพทย์ประจำที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการดูแลที่ครบวงจร