MWWellness ผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากอะไร

ศูนย์ดูแลสุขภาพ และล้างพิษครบวงจร ผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากอะไร

MWWellness มาทำความรู้จักโรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือ Alopecia Areata ที่พรากความมั่นใจไปจากผู้ป่วยได้อย่างง่ายดาย แล้วโรคนี้เกิดจากอะไรกันนะ

ผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากอะไร

ผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากอะไร


เส้นผมถือเป็นมงกุฎของบุคลิกคนเรา อย่างที่เคยเห็นกันว่าการเปลี่ยนแปลงทรงผมก็ช่วยปรับลุคเราได้ ดังนั้นเมื่อผมร่วงเยอะ หรือผมเริ่มบางลง คนจึงมักจะกังวลกันค่อนข้างหนัก แต่ที่พีคไปกว่านั้นคือ หากป่วยเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม ก็ยิ่งทำให้เส้นผมหายไปเป็นกระจุก เกิดภาวะเว้าแหว่ง หรือถ้าร้ายแรงอาจผมร่วงทั้งหัว ซึ่งวันนี้เราจะมารู้จักว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากอะไร อาการเป็นยังไง ใครคือกลุ่มเสี่ยง พร้อมวิธีรักษาว่ามีแนวทางไหนที่พอจะช่วยได้บ้าง

 

โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) คืออะไร

โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า โรค Alopecia Areata คือ โรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ โดยอาจจะร่วงแค่บางจุดบนศีรษะ หรือหลายจุด หรืออาจมีขนร่วงบริเวณอื่น ๆ เช่น ขนคิ้ว หนวด จอน ขนแขน ขนขา ขนรักแร้ ขนเพชร ร่วมด้วยได้ ซึ่งโรคนี้ก็จะสร้างความอับอาย ทำให้ผู้ป่วยหมดความมั่นใจ และกระทบกับการใช้ชีวิต รวมไปถึงการเข้าสังคม

 

          ทั้งนี้ สามารถแบ่งโรคนี้ตามตำแหน่งที่เกิดได้มากมาย เช่น

- Alopecia Areata (AA) คือ การมีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงที่คิ้ว หนวดขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว

- Alopecia Totalis (AT) คือ การที่ผมร่วงทั้งศีรษะ และอาจรวมทั้งขนคิ้ว ขนตา

- Alopecia Universalis (AU) คือ กรณีที่ผมบนศีรษะและขนที่ลำตัวร่วงเกือบทั่วร่างกาย 

 

โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เกิดจากอะไร

สำหรับคำถามที่ว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากอะไร ในทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของโรคนี้ แต่เชื่อกันว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง คือการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายตัวเอง (Autoimmune Disease) ร่วมกับมีการเสียการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune Privilege) รวมไปถึงยังอาจเกิดได้จากกรรมพันธุ์ หรือปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด การติดเชื้อไวรัส ฯลฯ 

          ขณะเดียวกัน การเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจก็ยังกระทบกับการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารสื่อประสาทบริเวณต่อมผม จึงทำให้ผมร่วง หรือขนตามร่างกายร่วงได้ โดยจากการศึกษาพบว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้ (Atopic Diseases), โรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome), การติดเชื้อ Helicobacter Pylori, โรคเอสแอลอี (SLE), โรคซีดจากการขาดธาตุเหล็ก, โรคไทรอยด์, โรคทางจิตเวช, โรคขาดวิตามินดี, โรคที่มีความผิดปกติทางหู และโรคที่มีความผิดปกติทางตาอีกด้วย

 

โรคผมร่วงเป็นหย่อม ใครเสี่ยงบ้าง

โรคนี้พบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ในทุกช่วงอายุ โดยความถี่ที่พบคือราว ๆ 0.2% ของประชากรทั้งหมด 

          ด้านคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคนี้คือประมาณ 30 ปี และร้อยละ 20 ของผู้ป่วยมักจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย ดังนั้นหากใครมีญาติสายตรงที่เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม จึงควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองให้ดี เพราะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

 

โรคผมร่วงเป็นหย่อม อาการเป็นยังไง

อาการเริ่มแรกของโรคผมร่วงเป็นหย่อม อาจสังเกตเห็นว่ามีผมร่วงเป็นหย่อม หรือร่วงเป็นกระจุกขนาดประมาณเหรียญ 10 บาท หรืออาจลามเป็นวงใหญ่ โดยหากอาการไม่รุนแรงอาจพบผมร่วงเป็นหย่อมแค่ 1-2 จุด และเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ ประมาณ 1-2 เดือนผมก็ขึ้นใหม่ได้ 

แต่ในกรณีที่อาการรุนแรง อาจพบผมร่วงเป็นหย่อมโดยไม่งอกขึ้นมาใหม่ หรือผมร่วงเป็นหย่อมหลายจุด ลามไปเรื่อย ๆ จนร่วงทั้งศีรษะ บางคนอาจมีหลุมเล็ก ๆ เกิดขึ้นบนผิวของแผ่นเล็บด้วย หรือหากอาการหนักมาก ๆ ก็อาจมีผมร่วงทั้งศีรษะ รวมไปถึงขนตามร่างกาย เช่น ขนคิ้ว หนวด ขนแขน ขนรักแร้ ขนขา ขนเพชร ก็จะหลุดเกลี้ยงเกลาไปหมดและไม่งอกขึ้นมาใหม่อีกเลย

 

ใครที่มีอาการประมาณนี้ก็อย่าชะล่าใจ แล้วรีบเข้ากระบวนการรักษาจะดีกว่า

โรคผมร่วงเป็นหย่อม รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง

ปัจจุบันการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม มีแนวทางหลัก ๆ ดังนี้

1. รักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน

          โดยจะเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ที่มีทั้งแบบฉีดและทาที่ผิวหนัง เพื่อกระตุ้นให้ผมงอกขึ้นใหม่ 

2. รักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์ระคายเคืองหรือทำให้แพ้

          ยาในกลุ่มนี้จะเข้าไปทำให้เกิดการแพ้ เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวชุดใหม่มาแทนชุดที่ทำงานผิดปกติไป และทำให้ผมงอกได้ตามปกติ 

                       อย่างไรก็ตาม การรักษาจะขึ้นอยู่กับแพทย์เจ้าของไข้ และอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ว่าควรใช้วิธีไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด อีกอย่างการตอบสนองต่อการรักษาก็ขึ้นอยู่กับร่างกาย ระยะเวลาที่เป็น และความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคลด้วยนะคะ ดังนั้นบางคนอาจไม่จำเป็นต้องรักษาก็หายได้เอง หรือบางคนอาจรักษาไม่นานก็หาย แต่บางคนอาจใช้เวลาเป็นปีจึงจะแก้ไขภาวะภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติให้ทำงานเป็นปกติได้ 

 

โรคผมร่วงเป็นหย่อม อันตรายไหม

          โรคนี้จริง ๆ ไม่อันตรายถึงชีวิตเหมือนโรคที่มีความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันบางโรค ทว่าก็ส่งผลต่อจิตใจและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยมาก ๆ เพราะทำให้สูญเสียความมั่นใจ ลดทอนความเชื่อมั่นในตนเอง ดังนั้นคนรอบข้างผู้ป่วยจึงต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยให้ดี และให้กำลังใจผู้ป่วยโรคนี้เยอะ ๆ จะดีกว่ามาล้อเลียนหรือพูดเล่นขำ ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดผลดีต่อผู้ป่วยเลย 

          อย่างไรก็ตาม แม้จะป่วยด้วยโรคนี้ก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ เพราะจริง ๆ แล้วก็รักษาให้หายได้ อีกทั้งในปัจจุบันก็มีทั้งการเสริมสวย การศัลยกรรม หรือไอเทมปกปิดจุดบกพร่องของศีรษะและผมอยู่มากมาย ดังนั้นจงเชื่อมั่นว่าเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้ และอย่าให้โรคผมร่วงเป็นหย่อมมาเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตเลยดีกว่า

 

ปรึกษาวิธีแก้ผมร่วงกับ MW Wellness ปรึกษา ฟรี!

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

Line: @mw-wellness

Tel: 096-081-2533, 02-276-5093


NEWS

สมัครรับข่าวสารต่างๆ

phone line chat_facebook