กะเพรา รักษาไขมันและเบาหวานได้จริงหรือ?
-ใบกะเพรา มีฤทธิ์ในการช่วยขับไขมัน และน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย ช่วยลดระดับไขมันในร่างกายและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ โดยมีการใช้ใบกะเพราในกระต่ายทดลอง โดยให้กระต่ายกินใบกะเพราติดต่อ 4 สัปดาห์ พบว่าระดับไขมันโดยรวมลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันเลว (LDL) ลดลง แต่ไขมันชนิดดี (HDL) กลับเพิ่มขึ้น
-สามารถลดปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดได้ จากการศึกษาในหนูทดลอง โดยให้ผงใบกะเพราขนาด 200 มิลลิกรัม/กก./วัน ในหนู 3 ประเภท ได้แก่ หนูปกติ หนูที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจากการชักนำ และหนูที่เป็นเบาหวานโดยการทำลายตับอ่อน พบว่ากะเพราสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองทั้ง 3 ประเภท นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยในใบกะเพรา (Basil Essential Oil) ยังช่วยให้กลไกควบคุมน้ำตาลในเลือดเป็นปกติอีกด้วย
-มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งวัดประสิทธิภาพ ใบกะเพรา ที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด พบว่า กะเพราส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร และระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารลดลงระหว่างเข้ารับการทดลอง โดยระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารลดลงร้อยละ 17.6 ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารลดลงร้อยละ 7.3
-ในทางการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย ถือว่ากะเพราเป็นสมุนไพรศักดิ์สิทธิ์ มีสรรพคุณหลากหลายในการแพทย์อายุรเวท ซึ่งมีงานวิจัยของอินเดียชี้ให้เห็นว่า การรับประทานผงใบกระเพราแห้งในปริมาณ 2.5-3 กรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ หรือให้รับประทานในปริมาณ 6 กรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนและหลังอาหารเช้า ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสูงและลดไขมันในเลือดสูงได้
นอกจากนี้ สารสกัดด้วยน้ำของใบกะเพราขนาด 5 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร สามารถลดน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ได้ และยังพบว่าประมาณ 63% ของผู้ป่วยเบาหวานที่ดื่มน้ำต้มกะเพรา วันละ 700 มิลลิลิตร โดยต้มต้นกะเพราแห้ง 20 กรัม ในน้ำ 1 ลิตร แล้วกรองดื่ม ตอบสนองต่อฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ดี ซึ่งงานวิจัยทางเคมีพบว่าสารสำคัญที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในกะเพราเป็นสารกลุ่มไทรเทอร์พีนอยด์ จากงานวิจัยเหล่านี้จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยเบาหวานหรือกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเป็นเบาหวาน สามารถนำใบกะเพรามาใช้เป็นอาหารในวิถีชีวิตประจำวันได้ (ข้อมูลจาก นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก)
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะรับประทานกะเพราเพื่อรักษาโรคดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน เพราะการจะนำกะเพราไปใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นๆ ต้องกระทำโดยแพทย์เจ้าของไข้ เนื่องจากสารอาหารบางอย่างในกะเพราอาจส่งผลต่อภาวะสุขภาพหรือยารักษาโรคบางชนิด ทั้งนี้ก็เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัยของตัวคุณเอง
ข้อมูลประกอบ :
stri.cmu.ac.th
medthai.com
www.pobpad.com
www.thaiquote.org
MW-Wellness
205 29-30 ถ. รัชดาภิเษก แขวงดินแดง
เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
02-276-5093, 02-276-5076
clinic.mw@gmail.com
Opening Hours :
Mon - Sun 10:00 - 19:00Mon - Sun 10:00 - 19:00
Social Media :