MWWellness การใช้กัญชารักษาโรค

ศูนย์ดูแลสุขภาพ และล้างพิษครบวงจร การใช้กัญชารักษาโรค

MWWellness การใช้กัญชารักษาโรค

การใช้กัญชารักษาโรค

การใช้กัญชารักษาโรค


 

สารสำคัญในน้ำมันกัญชาที่ทำให้เป็นความหวังสำหรับผู้ป่วยนั้นมีอยู่หลายชนิด แต่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจคือสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลหรือเรียกสั้นๆ ว่า THC ที่มาพร้อมกับ แคนนาบิไดออล หรือ CBD โดยโรคที่เห็นผลชัดเจนมากที่สุดก็คือ โรคลมชัก และโรคมะเร็งหลายชนิด

ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งรวมถึงมนุษย์นั้นมีระบบตามธรรมชาติที่เรียกว่า “ระบบ เอนโดแคนนาบินอยด์” หรือ ECS ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการทำงานของร่างกายหลายด้าน และในผนังเซลล์มนุษย์เราก็มีปุ่มรับสารแคนนาบินอยด์ด้วย ซึ่งปุ่มรับเหล่านี้สามารถได้รับสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ได้ 3 ทาง ได้แก่ การที่ร่างกายสังเคราะห์เอง การได้รับจากพืช เช่น กัญชา หรือการสังเคราะห์ทางเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น สารดรอนาบินอล

ความน่าสนใจในการรักษาโรคนั้น สาร THC ในกัญชามีผลทำให้เกิดการเมา ง่วงนอน อ่อนเพลียแรง ในขณะที่สาร CBD ในกัญชาไม่ได้ทำให้เกิดการมึนเมาเลย แต่กลับเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการสารไหนเพื่อทำอะไรมากกว่ากัน เช่น การรักษาผู้ป่วยมะเร็งมักจะให้ความสนใจในสาร THC มากกว่าสาร CBD แต่ถ้าสนใจในเรื่องการช่วยเหลือเรื่องโรคลมชัก พาร์กินสัน และอาการสมองเสื่อมก็ต้องให้ความสนใจในสาร CBD มากกว่า THC

นั่นหมายความว่า กัญชาแต่ละสายพันธุ์นั้นให้สาร THC และ สาร CBD ไม่เท่ากัน นอกจากนั้น ความเข้มข้นของสารในน้ำมันกัญชาจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่สกัดมาด้วย ดังนั้น เมื่อความหลากหลายเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความสับสนสำหรับผู้ที่จะใช้น้ำมันกัญชาเพื่อรักษาโรคอยู่ไม่น้อย

ข้อจำกัดของข้อมูลการวิจัยเรื่องน้ำมันกัญชานั้น คือเป็นสิ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มสารเสพติด ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงอีกหลายประเทศ จึงทำให้การทดลองอยู่ในระดับการทดลองในหลอดแก้วบ้าง สัตว์ทดลองบ้าง แม้จะทดลองกับผู้ป่วยก็ต้องอยู่ภายใต้การใช้เคมีบำบัดหรือการฉายแสงของแพทย์แผนปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะระบุได้ว่าผู้ป่วยที่หายป่วยจากโรคมะเร็งนั้น หายเพราะการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือสารสำคัญในกัญชากันแน่

ในขณะที่หลายประเทศก็เริ่มตื่นตัวเรื่องการใช้กัญชาในทางการแพทย์มากขึ้น และรวมถึงมีการเผยแพร่ผู้ที่หายป่วยทั้งจากโรคมะเร็งและโรคลมชักจำนวนมากในทั้งยูทูปหรือตามเว็บไซต์ต่างๆ อีกจำนวนมากที่ไม่สามารถจะยืนยันได้ถึงความถูกต้องชัดเจน แต่ในวารสารทางการแพทย์ด้านมะเร็งนั้นก็เริ่มมีการรายงานผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ใช้น้ำมันกัญชาแล้วทำให้มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีจำนวนลดน้อยลงอย่างชัดเจนให้เห็นบ้างแล้ว

ทุกวันนี้จะมีคนป่วยที่ใช้น้ำมันกัญชานั้นพยายามแสวงหาปริมาณที่ใช้ รวมถึงวิธีที่ใช้และมีประสิทธิภาพอย่างถูกต้อง แต่ด้วยความที่มีความไม่แน่นอนถึงสายพันธุ์ก็ดี ความเข้มข้นของสารสำคัญในวัตถุดิบก็ดี รวมไปถึงความเข้มข้นจากวิธีสกัดก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นความไม่แน่นอนต่อการใช้เพื่อรักษาโรคในปัจจุบัน

ตัวอย่างที่มีการรายงานวารสารทางการแพทย์เกี่ยวกับกรณีศึกษาของโรคมะเร็ง ทดลองในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวอายุ 14 ปี พบว่าการให้ทางปากและได้ผล ทำให้เซลล์มะเร็งลดลงนั้นอยู่ที่ประมาณ 1 มิลลิตรต่อวัน

ส่วนในรายงานจากต่างประเทศที่มีการรายงานผลผู้ป่วยมะเร็งนั้น พบว่าการรับประทานทางปากของ “เคลลี่ ชารอน” ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4 ทำให้เกิดการเมาและอาเจียนจนไม่สามารถดำรงชีวิตเป็นปกติได้ จึงใช้การสวนเข้าไปทางทวารหนักวันละ 1-3 มิลลิตรต่อวัน แทนการรับประทาน พร้อมทั้งควบคุมอาหารการกิน ไม่รับประทานแป้ง น้ำตาล และเนื้อสัตว์ ซึ่งก็มีอาการดีขึ้นเช่นกัน

คำถามทั้งหมดนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงการใช้กัญชานั้นมีผลแตกต่างกันอย่างไร ได้แก่ การสูบ การรับประทาน การสวนทวาร ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1.การสูบกัญชา
ให้ประสิทธิภาพของสารสำคัญประมาณ 10 – 25% และให้ผลโดยทันที แต่ข้อเสียคือพบงานวิจัยว่าจะเพิ่มอัตราความเสี่ยงโรคมะเร็งทางเดินหายใจมากขึ้นจากการเผาไหม้กัญชา

2.การรับประทาน
จะให้ประสิทธิภาพของสารสำคัญประมาณ 20% ซึ่งจะออกอาการประมาณภายใน 30-90 นาทีหลังรับประทาน ผ่านดูดซึมจากลำไส้เล็กและตับ

3.การสวนทวารหนักหรือเหน็บทวารหนัก
จะให้ประสิทธิภาพประมาณ 50-70% และจะออกอาการภายใน 10 -15 นาทีเท่านั้น และจะไม่มีอาการมึนเมาเหมือนกับการสูบหรือรับประทาน โดยการใช้การสวนทวารนั้นจะใช้วิธีนำน้ำมันกัญชามาผสมกับน้ำมันมะพร้าวอย่างละครึ่ง เพื่อให้เกิดการเหลวตัวและดูดซึมผ่านผนังลำไส้ใหญ่ไปยังตับให้ได้ดีขึ้น

แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงในระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันด้วยกันเองที่มีการทดลองใช้ว่าแม้ว่าประสิทธิภาพการใช้น้ำมันกัญชาด้วยการสวนทวารจะมีมากกว่า ดูดซึมมากกว่า แต่ก็ไม่ได้ผ่านกระบวนการย่อยและอาการทางสมองก็ไม่เหมือนกับการรับประทาน ผู้ป่วยบางรายจึงทั้งรับประทาน และการสวนผ่านทวารหนักไปทั้งสองทาง เพื่อยุติความสับสนและความไม่แน่นอนถึงคำตอบที่ได้

สำหรับปริมาณที่ใช้นั้นปัจจุบันมีหลายทฤษฎีมากตั้งแต่วันละ 1-2 หยด ไปจนถึงที่ใช้กันมากคือวันละ 1-3 มิลลิลิตร และบางกรณีเห็นว่าทางทวารหนักนั้นไม่เกิดอาการจนเป็นผลทำให้มีคนใช้มากถึง 5 มิลลิตรต่อวันก็มี

ปัญหาที่มีความไม่แน่นอนของปริมาณที่ใช้ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีห้องแลปที่ไหนรับตรวจปริมาณสาร THC และ CBD ในน้ำมันกัญชาแต่ละชนิด เพราะถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงกลายเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งที่การใช้กัญชารักษาโรคจะมีมาตรฐานได้ และอาจกลายเป็นโอกาสของมิจฉาชีพ ที่ผสมน้ำมันกัญชาแบบเจือจางไปกับน้ำมันชนิดอื่น หรือแม้แต่มีการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงและฟอร์มารีนก็คงไม่มีหน่วยงานมาตรวจมาตรฐานสินค้าได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากจะเป็นสินค้าเพื่อรักษาโรคที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังมีปัญหาอีกด้านหนึ่งคือผู้ใช้กัญชาจะมีอาการหิวมากขึ้น และหิวแป้งและน้ำตาลมาก ดังนั้นหากผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด และโรคอาการทางสมอง หากไม่ระมัดระวังและบริโภคน้ำตาลและแป้งจำนวนมาก อาหารที่รับประทานเข้าไปด้วยฤทธิ์กัญชาเหล่านั้นนั้นจะส่งผลเสียและบั่นทอนในแทบทุกโรคที่คาดหวังว่าจะรักษาด้วยกัญชา ดังนั้น หากคิดจะเริ่มใช้น้ำมันกัญชาแล้ว จะต้องไม่ตามใจปากโดยเด็ดขาด

ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็เพราะประเทศไทยยังถือว่ากัญชาเป็นสารเสพติดอยู่ จึงทำให้มีความไม่แน่นอนสูง มีสารพัตรสูตร ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรเริ่มต้นเปิดให้มีการวิจัยเรื่องกัญชาอย่างถูกกฎหมาย นิรโทษกรรมให้เปิดเผยตัวผู้ป่วยและผู้รักษาทั้งหลายได้เข้าสู่ระบบการวิจัยอย่างเต็มตัว เพื่อจะได้กำหนดทิศทางกัญชาของประเทศไทยว่าจะมีการดำเนินการควบคุมเพื่อใช้ในการแพทย์ให้ถูกกฎหมายต่อไปอย่างไร

 

ที่มา : เปิดสูตร…”การใช้กัญชารักษาโรค”  ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


NEWS

สมัครรับข่าวสารต่างๆ

phone line chat_facebook