MWWellness โรคติดเกม!!

ศูนย์ดูแลสุขภาพ และล้างพิษครบวงจร โรคติดเกม!!

MWWellness โรคติดเกม!!

โรคติดเกม!!

โรคติดเกม!!


โรคติดเกม

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้การติดเกมเป็นโรคชนิดหนึ่ง (Gaming Disorder) เป็นอาการทางจิตที่รุนแรง และต้องได้รับการบำบัดรักษาเช่นเดียวกับโรคอื่นๆ การเล่นจนติดเกมแตกต่างจากการเล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเล่นเป็นงานอดิเรก คือ ผลกระทบที่เกิดจากการติดเกมเป็นผลทางด้านลบ ผู้เล่นไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ต้องเล่นอย่างต่อเนื่องและะยะเวลาการเล่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สนใจการทำกิจกรรมอื่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าเด็กไทยเล่นเกมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 1 ของประเทศในแถบเอเชีย ปัญหาเด็กติดเกมจึงอยู่ในขั้นวิกฤต และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี

สัญญาณบ่งชี้ว่าเป็นโรคติดเกม
1. เมื่อต้องหยุดเล่น หรือถูกขัดจังหวะ จะรู้สึกโกรธ และหงุดหงิดฉุนเฉียวอย่างรุนแรง แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้
2. แยกตัวออกจากสังคม ตัดขาดจากโลกภายนอก เลือกที่จะใช้เวลาอยู่หน้าจอมากกว่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว และเพื่อนฝูง
3. ละเลยการเรียน การทำงาน ตลอดจนกิจวัตรประจำวันต่างๆ
4. คิด และหมกมุ่นอยู่แต่กับการเล่นเกม วางแผนเพื่อที่จะเอาชนะในการเล่นเกมครั้งต่อไป และจะโมโหฉุนเฉียวมากถ้าเล่นเกมแพ้
5. ไม่สามารถหยุดเล่นได้ทั้งๆ ที่ทราบดีว่ามีผลกระทบต่อตนเองอย่างมาก
6. ไม่ยอมรับความจริงว่าตนเองมีปัญหาติดเกม
7. เกิดพฤติกรรมทางด้านลบอื่นๆ เช่น พูดโกหก หรือขโมยเงินเพื่อเอาไปเล่นเกม ไม่ยอมไปโรงเรียน หรือเล่นจนกลายเป็นการติดการพนันในที่สุด

อันตรายของโรคติดเกม
อาการเสพติดเกม ก็คล้ายกับการเสพติพยา คือก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกาย และจิต เมื่อต้องหยุดเล่นก็จะเกิดอาการคล้ายอาการที่เกิดจากการหยุดยาเสพติด ผลเสียทางร่างกาย เช่น เมื่อต้องเพ่งสายตาไปที่หน้าจอเป็นเวลานานๆ จะทำให้ดวงตาเกิดความอ่อนล้า ตาพร่ามัว ตาแห้ง การนั่งเล่นเกมเป็นเวลานานทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามตัว คอ ไหล่ และข้อมือ เกิดอาการขาดน้ำ และขาดสารอาหาร หรือบางรายอาจเป็นโรคอ้วน เนื่องจากร่างกายเคลื่อนไหวน้อยลง ขาดการออกกำลังกาย ตลอดจนได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มเครื่องดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำตาล และคาเฟอีนมากเกินไป ขาดการพักผ่อนนอนหลับ หลายเกมมีความรุนแรงซึ่งจะทำให้ผู้เล่นเคยชินกับพฤติกรรมที่รุนแรง เกิดอาการก้าวร้าวจากการที่ไม่สามารถเอาชนะเกม หรือในบางกรณีผู้เล่นสามารถเอาชนะเกมได้ทุกครั้ง แต่ชีวิตจริงไม่เหมือนกับในเกม ทำให้เกิดอาการหงุดหงิดฉุนเฉียว ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน และการเรียนที่รับผิดชอบ

แนวทางแก้ไขให้เลิกติดเกมในเด็ก

1.ก่อนที่จะอนุญาตให้เด็กเล่นเกม ควรมีการสัญญาและตกลงกันก่อนว่า จะต้องทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรืออาบน้ำกินข้าวก่อนถึงจะเล่นเกมได้
2.จำกัดเวลาเล่นเกม เช่นเล่นได้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง
3.เลือกประเภทเกมให้เด็กเล่น
4.ให้รางวัลเมื่อเด็กทำตามที่ตกลงกันไว้ได้
5.เก็บอุปกรณ์ในการเล่นเกมรวมทั้งมือถือให้ห่างไกลจากเด็ก
6.เบี่ยงเบนความสนใจของเด็กให้หันไปทำกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับพ่อแม่ได้ เช่น การอ่านหนังสือหรือเล่านิทานก่อนนอน เล่นกีฬาที่เด็กชอบ พาไปเดินเที่ยวในสวนสาธารณะ เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ให้มากขึ้น

ในผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่ติดเกมอาจจะแก้ไขได้ยากกว่าเด็ก เพราะไม่มีผู้ปกครองคอยตักเตือนโดยเฉพาะในรายที่อยู่คนเดียว
แนวทางการแก้ไข คือ

1.จำกัดเวลาเล่นเกม
2.แบ่งแยกเวลาการทำงานกับการเล่นเกมให้ชัดเจน
3.ปรึกษาคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทให้ช่วยคอยห้ามคอยเตือน ให้กำลังใจ หรือคอยชักชวนให้หันไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่นเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เล่นดนตรี
4.ใช้เวลาว่างไปทำกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น ช่วยดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล อาสาจราจร ทำความสะอาดวัดวาอาราม ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
5.ในรายที่ติดเกมรุนแรงมากอาจต้องพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
การเล่นเกมอย่างพอดี ทำให้ผู้เล่นได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน คลายเครียด ฝึกทักษะ สมาธิ การตัดสินใจ การประสานการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาทระหว่างมือกับตา
อย่างไรก็ตาม การเล่นเกมไม่ควรเล่นติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือหมกมุ่นมากจนเกินไปจนทำให้เกิดอาการเสพติดและเกิดผลเสียต่อสุขภาพทางกายและจิตใจ

ที่มา : รศ.ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร
ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


NEWS

สมัครรับข่าวสารต่างๆ

phone line chat_facebook