MWWellness อิทธิพลของจีน และอินเดียต่อวิชาการแพทย์แผนไทย

ศูนย์ดูแลสุขภาพ และล้างพิษครบวงจร อิทธิพลของจีน และอินเดียต่อวิชาการแพทย์แผนไทย

MWWellness อิทธิพลของจีน และอินเดียต่อวิชาการแพทย์แผนไทย

อิทธิพลของจีน และอินเดียต่อวิชาการแพทย์แผนไทย

อิทธิพลของจีน และอินเดียต่อวิชาการแพทย์แผนไทย


“เปิดบันทึกหมอเสม” อิทธิพลของจีนและอินเดียต่อวิชาการแพทย์แผนไทย

การแพทย์ไทยโบราณ

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้อยุธยาได้ปรากฏหลักฐานในบันทึกของ เมอสิเออร์ ชีมง เดอ ลา ลูแบร์ ซึ่งมีฐานะเป็นเอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศสในขณะอยู่ที่สยาม เกิดเจ็บป่วยก็ได้มีการบันทึกว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมอหลวงทั้งกรมมารักษาให้ โดยมีทั้งหมอจีน หมอสยาม และรามัญ ที่ผลัดกันมาตรวจด้วยการจับชีพจร
มีคำถามอยู่ว่าแพทย์แผนจีน แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนมอญ สามารถร่วมกันรักษาได้อย่างไร และมีการผลัดกันจับชีพจรสื่อสารกันได้อย่างไร ในเมื่อผู้คนในยุคปัจจุบันมีความเชื่อว่าการแพทย์เหล่านี้มีรากฐานคนละศาสตร์กัน

แต่โดยประวัติศาสตร์แล้วการแพทย์แผนไทยนั้นเป็นการแพทย์ที่มีการบูรณาการจากพหุเวชศาสตร์ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลผ่านทางวัฒนธรรมที่หลากหลายมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว ทั้งการแพทย์แผนจีน การแพทย์อายุรเวทจากอินเดีย การกอกเลือดด้วยเขาสัตว์จากการแพทย์ในศาสนาอิสลาม ฯลฯ อีกทั้งยังมีการประยุกต์และผสมผสานอีกหลายศาสตร์จนมาเป็นการแพทย์แผนไทย
 

ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขหลายสมัย เป็นนายแพทย์ผู้บุกเบิกการแพทย์ชนบท และการแพทย์สมัยใหม่ ผู้ร่วมจัดทำแผนสาธารณสุขแห่งชาติ ได้เคยเขียนบทความชื่อ “วันพรุ่งนี้ของเวชปฏิบัติทั่วไป” ในหนังสือชมรมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ฉบับพิเศษวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื่องในโอกาสที่ ชมรมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปมีอายุครบรอบ ๗ ปี [1] ซึ่งในบทความดังกล่าวบางตอนได้เขียนแสดงทัศนะถึงอิทธิพลของการแพทย์ของจีนที่มีต่อประเทศไทยดังต่อไปนี้


“…การแพทย์ของยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยท่านน่านเจ้า (น่าน=ใต้, เจ้า = ใหญ่) คือเมื่อสมัยไทยยังเป็นใหญ่อยู่ทางด้านใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน คือในมณฑลยูนาน อันมีเมืองแสหรือหนองแสเป็นราชธานี และมีพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง นามว่าขุนบรมหรือทางจดหมายเหตุทางจีนเรียกว่า “พีลอโก๊ะ” ซึ่งปรากฏว่าขุนบรมทรงเสวยราชย์ ณ เมืองแส เป็นรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๑๒๗๒ [2]

พระองค์เป็นวีรกษัตริย์ที่กล้าหาญ ทรงขยายเขตได้บ้านเมืองมาทางใต้. และสร้างเมืองแถง (ปัจจุบันมีชื่อว่าเดียนเบียนฟู อยู่ในเวียดนามเหนือจุดจบของกองทัพฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๑๒๗๗ โดยฝีมือของขุนพลโวเหงียนเกี๊ยบ) ในแว่นแคว้น ๑๒ จุไทย และทรงลงมาประทับเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๑๒๗๘

ในด้านการปกครองก็ปรากฏมีกระทรวงรับผิดชอบอยู่ ๙ กระทรวง คือ กระทรวงทหาร, กระทรวงสัมโนครัว, กระทรวงราชประเพณี, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงโยธา, กระทรวงการคลัง, กระทรวงต่างประเทศ, และกระทรวงพาณชิย์ (คำว่ากระทรวง ภาษาไทยน่านเจ้าว่า “สอง” ซึ่งตรงกับภาษาจีนว่า “สาง” ในประเทศญี่ปุ่นคำว่ากระทรวงก็ยังใช้คำว่า “สอง” อยู่จนถึงปัจจุบัน กิจกรรมการแพทย์คงจะสังกัดอยู่ในกระทรวงสัมโนครัวหรือกระทรวงมหาดไทย…ชาติจีนเป็นชาติใหญ่มานานแล้วเก่าครั้งโบราณกาลก่อนสมัยพุทธกาล ๒๕๐๐ กว่าปี ฉะนั้นการแพทย์ของจีนคงจะมีอิทธิพลงต่อเวชปฏิบัติทั่วไปของไทยในสมัยน่านเจ้า…

…มหาศัลยแพทย์ฮูโต๋ สมัยสามก๊ก คือสมัยเมื่อ พ.ศ. ๗๐๐ ประเทศจีนแตกกันเป็นสามพวก การชิงดีชิงเด่นในด้านการเมืองทำให้เกิดหนังสือสามก๊ก เป็นตำรับตำราวิชาการเมืองและการทหารสืบเนื่องต่อกันมา และยังถือเป็นแบบฉบับของการดำรงชีพในปัจจุบันของทั้งชาวจีนและไทย ดังปรากฏมีคำพังเพยใช้เปรียบเทียบอยู่เนืองๆ ในสมัยสามก๊กนี้มีแพทย์จีนซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันดีในบรรดาประชาชนชาวไทยและชาวจีนชื่อหมอฮูโต๋ ท่านผู้นี้ในวงการแพทย์ปัจจุบันได้ยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการใช้ยาระงับความรู้สึกในประเทศจีน

กล่าวคือ ได้นำ “กันชา“ มาใช้เป็นยาระงับความรู้สึกในการผ่าตัดเอาหัวเกาทัณฑ์ออก, ผ่าหน้าท้อง, ตัดม้าม นอกจากนี้ ยังได้บันทึกลักษณะของชีพจรที่พบในผู้ป่วยไว้มากกว่า ๒๐๐ ชนิด (เวชปฏิบัติปัจจุบันแบ่งลักษณะชีพจรได้มากเท่าไร)

การแพทย์ของจีนคงจะได้มีอิทธิพลต่อการแพทย์ของไทยสมัยน่านเจ้า เพราะไทยจีนมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมร่วมกันมาอย่างใกล้ชิดหลายพันปีมาแล้ว จนคนไทยเรียกจีนเป็น “อา” หรือน้องของพ่อมาจนปัจจุบัน การแพทย์ของจีนคงจะเป็นกระจกส่องให้เห็นถึงสภาพการแพทย์ของไทยน่านเจ้าได้

เมื่อศาสนาพุทธแบบมหายานได้แพร่จากอาณาจักรด้านเหนือของประเทศอินเดีย อ้อมวกไปทางด้านหลังของภูเขาหิมาลัย หรือป่าหิมพานของอินเดีย สู่ประเทศธิเบตและจีนในพุทธศตวรรษที่หก และด้วยการจาริกของพระภิกษุจีนหลายรูปที่เดินทางมาสืบพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย…

…อันพระไตรปิฎกนั้นนอกจากจะมีพระธรรมวินัยและคำสั่งสอนแล้วในหัวข้อ “เภสัชขันธกะ” พระพุทธองค์ยังได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยเป็นการแผ่เมตตาไปพร้อมกันอีกด้วย ยาต่างๆ ได้จัดไว้เป็นหมวดหมู่มี ขิง ข่า ว่านน้ำ บรเพ็ด ใบมะกา ใบสะเดา กานพลู ดีปลี พริกไทย สมอพิเภก มหาหิงค์ รากบัวหลวง กำยาน อบเชย ไม้จันทน์ กำมะถัน ปรอท เกลือ ธาตุปูน เหล็ก น้ำมันงา ไขมันสัตว์ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และเนยใส…

เวชปฏิบัติทั่วไปคงจะเป็นการปฏิบัติตามแบบฉบับของจีนเดิมผสมผสานกับเวชปฏิบัติของอินเดียที่แอบมากับพระไตรปิฎกดังได้กล่าวพรรณามาแล้ว

เภสัชตำราก็คงจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมไปพรรณได้นานาชนิด ที่อาจหาได้ตามท้องถิ่นที่ชาวไทยอพยพลงมาจากอาณาจักรน่านเจ้าลงมาทางใต้“

จากบทความที่คัดมาบางตอนของ ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่าการแพทย์แผนไทยนั้น แท้ที่จริงก็คือการแพทย์ที่มีการบูรณาการจากหลายเวชศาสตร์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจาการแพทย์ของจีนและอินเดีย โดยมาปรับใช้และประยุกต์เข้ากับการแพทย์พื้นบ้านประจำท้องถิ่นของสยามตั้งแต่เมื่อครั้งโบราณกาล

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
[1] ส. พริ้งพวงแก้ว, วันพรุ่งนี้ของเวชปฏิบัติทั่วไป, ชมรมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ฉบับพิเศษ 20 พฤศจิกายน 2514 หน้า 33-56

[2] พงศาวดารชาติไทยเล่มหนึ่ง ของพระบริหารเทพธานี-โรงพิมพ์ประจักษ์วิทยา หน้า 37 พ.ศ. 2508


NEWS

สมัครรับข่าวสารต่างๆ

phone line chat_facebook