ไมเกรนถือเป็นโรคที่ได้ยินกันบ่อย แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักจริง ๆ ว่าไมเกรนมีอาการยังไง และมีวิธธีบรรเทาอาการอย่างไรเมื่อเกิดขึ้นกับตัวเอง วันนี้เราจะมาทำความรู้จักไมเกรนกันค่ะ
ทำความรู้จักไมเกรน
เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะตัวที่สำคัญ คือ อาการปวดศีรษะ โดยมักปวดข้างเดียว หรือเริ่มปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดทั้ง 2 ข้าง แต่ละครั้งที่ปวดมักจะย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่งได้ บางครั้งอาจปวดทั้ง 2 ข้างขึ้นมาพร้อม ๆ กันตั้งแต่แรก ผู้ป่วยโรคไมเกรนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย และมักเป็นในผู้ที่มีความเครียดทางอารมณ์และจิตใจสูง
ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine Headache) เป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อยมาก ๆ เป็นอันดับ 2 รองจากอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็ง (Tension type headache) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 – 3 เท่า มักเริ่มมีอาการครั้งแรกตอนช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน
ประเภทปวดศีรษะไมเกรน
ปวดศีรษะไมเกรนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine without aura) พบมากที่สุดในกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน
2.ไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine with aura) อาการเตือนที่เราจะพบบ่อย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดไปเป็นบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่ หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว ซึ่งอาการผิดปกติของการมองเห็นจะเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ อาการเตือนอื่น ๆ เช่น อาการชาที่มือ แขน หรือชารอบปาก ไม่สามารถพูดได้ชั่วคราวหรือนึกชื่อไม่ออก หรือมีอาการอ่อนแรงของแขนและขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น
สาเหตุปวดศีรษะไมเกรน
อาการปวดศีรษะไมเกรน เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองเกิดการกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าคนปกติ หลังจากสมองถูกกระตุ้นแล้ว จะเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมองอย่างช้า ๆ (ทำให้เกิดอาการการเตือนขึ้นมา) กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองเปลี่ยนแปลงไป และยังไปกระตุ้นเส้นประสาทสมอง ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด มีผลทำให้หลอดเลือดสมองเกิดการขยายตัวและเกิดการอักเสบขึ้น เป็นผลทำให้มีอาการปวดศีรษะในที่สุด
ถ้าหากว่าไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาช้าจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบรับความเจ็บปวดในสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงขึ้น ความถี่ของการปวดศีรษะเพิ่มมากขึ้น ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด อาจพบอาการเจ็บแปล๊บ ๆ ที่บริเวณรอบกระบอกตาหรือหนังศีรษะได้ และพบความผิดปกติของสมองจากการตรวจด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (พบสมองฝ่อเล็กลงและมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมองสีขาว)
อาการปวดศีรษะไมเกรน
ลักษณะอาการปวดศีรษะที่จำเพาะกับปวดศีรษะไมเกรน คือ
1.ปวดศีรษะข้างเดียว อาจย้ายข้างได้ แต่มักเป็นทีละข้าง
2.ลักษณะการปวดเป็นแบบตุ้บ ๆ (คล้ายเส้นเลือดเต้น)
3.ความรุนแรงของอาการปวดจะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก
4.การทำกิจวัตรทั่วไป เช่น การเดินหรือขึ้นบันได จะทำให้อาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้น
5.อาการจะดีขึ้นถ้าได้พักผ่อนอยู่นิ่ง ๆ ในห้องที่มืดและเย็น
6.ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับรักษาไม่เหมาะสม อาการปวดศีรษะจะเป็นอยู่นาน 4 – 72 ชั่วโมง
7.อาการร่วมอื่น ๆ ที่สามารถพบร่วมกับอาการปวดศีรษะ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสง ไม่อยากเห็นแสงจ้า ไม่อยากได้ยินเสียงดัง
ในผู้ป่วยบางรายจะพบได้ว่ามีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนขึ้นมา เช่น ภาวะเครียด, การอดนอน, การนอนและตื่นที่ไม่เป็นเวลา, ช่วงที่เป็นประจำเดือน, กลิ่นหรือควัน, การเปลี่ยนแปลงของอากาศหรือความร้อน, แสงแดด, อาหารบางชนิด (อาหารหมักดอง, ชีส, ไวน์) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยควรสังเกตและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้น
ดูแลตนเองเมื่อป่วยไมเกรน
1.สังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
2.นอนพักผ่อนให้เพียงพอและตรงตามเวลาทุกวัน
3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป
4.งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke)
5.งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ, ชา, น้ำอัดลม, เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
6.ในผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาคุมกำเนิดต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
7.ถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นหรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที
การรักษาไมเกรน
ปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง สามารถควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และการใช้ยาอย่างเหมาะสม เมื่ออายุมากขึ้นมักจะมีอาการปวดศีรษะลดลง การรักษาปวดศีรษะไมเกรน แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล, ยาลดการอักเสบที่ไม่ไช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นต้น
ยาที่เฉพาะเจาะจงกับไมเกรน เช่น ยากลุ่มทริปแทน (triptan) หรือ ยาที่มีส่วนผสมของเออโกทามีน (ergotamine) ซึ่งออกฤทธิ์ที่เส้นเลือดสมองโดยตรง
ยาสำหรับลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
กลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic acid เป็นต้น
กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม เช่น Flunarizine, Cinnarizine, Verapamil เป็นต้น
กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับเบต้า เช่น Propanolol, Atenolol, Metoprolol เป็นต้น
กรณีมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน สามารถรับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ไช่สเตียรอยด์หรือยากลุ่มทริปแทนช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 2 – 3 วัน และรับประทานยาต่อจนหมดประจำเดือน 4 – 5 วัน
การที่เราทำความรู้จักกับไมเกรนไว้ถือเป็นเรื่องดี เพราะถ้าเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนรอบข้างจะได้ช่วยเหลือได้ทัน อย่างไรก็ตามถ้ารู้สึกว่าอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อเช็คความชัวร์ว่าเราไม่ได้มีโรคแทรกซ้อนอะไรนะคะ
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
MW-Wellness
205 29-30 ถ. รัชดาภิเษก แขวงดินแดง
เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
02-276-5093, 02-276-5076
clinic.mw@gmail.com
Opening Hours :
Mon - Sun 10:00 - 19:00Mon - Sun 10:00 - 19:00
Social Media :